
องค์การบริหาร / สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา
บริการและสวัสดิการ วิทยาเขต สุราษฏร์ธานี
รายละเอียดบริการและสวัสดิการ วิทยาเขต สุราษฏร์ธานี
กองวิชาการและการพัฒนานักศึกษา
มหาวิทยาลัยสนับสนุนในการจัดบริการและสวัสดิการต่างๆ ให้นักศึกษาด้านต่างๆ ดังนี้
ประเภททุนการศึกษาทั่วไป เป็นทุนการศึกษาที่บริษัท/ห้างร้าน/มูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ ช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นทุนที่ให้เปล่าและมีเงื่อนไข ทุนการศึกษาแบ่งเป็น 3 ประเภท
ทุนการศึกษา
1. ทุนการศึกษาประเภทให้เปล่า
เป็นทุนที่มีผู้จิตศรัทธาสนับสนุนทุนการศึกษาเป็นประจำทุกปี ได้แก่ มูลนิธิ บริษัท ห้างร้าน สมาคม หน่วยงาน บุคคลทั่วไป มอบเงินทุนเพื่อจัดสรรให้เป็นทุนการศึกษา มูลค่าทุนแต่ละทุนแตกต่างกัน ทุนให้เปล่ามีการแบ่งลักษณะทุนเป็น 2 ลักษณะดังนี้
1.1 ทุนการศึกษาแบบต่อเนื่อง เป็นทุนการศึกษาที่มอบให้แก่นักศึกษาตั้งแต่ปี 1 จนสำเร็จการศึกษา โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฯ บริษัท ห้างร้าน หน่วยงาน บุคคลทั่วไป โดยสนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าครองชีพ หรือย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่วัตถุประสงค์ของผู้บริจาค
1.2 ทุนการศึกษาครั้งเดียวหรือรายปี หรือภาคการศึกษา ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธา หรือ บริษัท ห้างร้าน หน่วยงาน บุคคลทั่วไป มีความประสงค์ที่จะช่วยเหลือเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา หรือค่าครองชีพระหว่างเรียนเป็นรายปีหรือภาคการศึกษาตามความเหมาะสม
2. ทุนดอกผล
เป็นทุนที่มีผู้จิตศรัทธาสนับสนุนทุนการศึกษา ได้แก่ มูลนิธิ บริษัท ห้างร้าน สมาคม หน่วยงาน บุคคลทั่วไป มอบเงินจำนวนหนึ่งไว้กับมหาวิทยาลัย เพื่อนำดอกผล ที่ได้รับมาจัดสรรให้มาเป็นทุนการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา มูลค่าทุนขึ้นอยู่กับดอกผลของทุนนั้น ๆ หรือเจ้าของทุนอาจระบุเงื่อนไขเฉพาะไว้จ่าย
3. ทุนทำงานแลกเปลี่ยน
เป็นทุนการศึกษาที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย และเงินของมูลนิธิมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยงานพัฒนานักศึกษาได้จัดสรรเป็นเงินทุนทำงานแลกเปลี่ยน ชั่วโมงละ 40 บาท
4. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2539 เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสทางการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจะสนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าครองชีพให้แก่นักศึกษา ทั้งนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาสามารถแบ่งออกเป็น 2 แหล่งทุน ดังนี้
1. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หลักเกณฑ์ในการกู้ยืม ดังนี้
(1) มีรายได้ต่อครอบครัว ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี หมายถึง
- รายได้ของบิดา มารดาและนักศึกษา รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 2 แสนบาทถ้วนต่อปี
- กรณีที่ผู้ปกครองอุปการะ รายได้ของผู้ปกครองและนักศึกษา รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 2 แสนบาทถ้วนต่อปี
***นักศึกษาสามารถกู้ได้ ดังนี้ 1) ค่าเทอม (2) ค่าครองชีพ (เดือนละ 2,400 บาท)***
(2) เป็นผู้ที่มีผลการเรียนต้องไม่ต่ำกว่า 1.80
(3) ผู้ที่ขอกู้ยืมเงินจะต้องผ่านการทำกิจกรรมจิตอาสา(ไม่จำกัด ชม)
(4) เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยฯ เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่
ลักทรัพย์ ใช้ยาเสพติด เล่นการพนัน เป็นต้น
(5) นักศึกษาสามารถสมัครได้ทุกสาขาวิชา
(6) ไม่เคยเป็นผู้สำเร็จการศึกษารับปริญญาตรีสาขาใดมาก่อน
(7) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(8) ไม่เคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุก โดยพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำ
โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
2. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) หลักเกณฑ์ในการกู้ยืม ดังนี้
(1) มีรายได้ของครอบครัว
- กรณีรายได้ของครอบครัว ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี นักศึกษากู้ได้
(1) ค่าเทอม (2) ค่าครองชีพ (เดือนละ 2,400 บาท)
- กรณีรายได้ของครอบครัว เกิน 2 แสนบาทต่อปี นักศึกษากู้ได้เฉพาะค่าเทอมเท่านั้น
(2) เป็นผู้ที่มีผลการเรียนต้องไม่ต่ำกว่า 1.80
(3) ผู้ที่ขอกู้ยืมเงินจะต้องมีการผ่านการทำกิจกรรมจิตอาสา (มีการเซ็นเอกสารรับรองหรือเกียรติบัตรและรูปถ่าย)
(4) เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยฯ เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่
ลักทรัพย์ ใช้ยาเสพติด เล่นการพนัน เป็นต้น
(5) นักศึกษาสามารถสมัครได้เฉพาะสาขาที่ตลาดต้องการ มีสาขาวิชาที่สามารถกู้ได้ ดังนี้
- สาขาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร - สาขาบัญชี
- สาขาเคมีเพื่ออุตสาหกรรม - สาขาเทคโนโลยีอาหาร
- สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกษตร - สาขาทรัพยากรประมง
- สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยางพารา - สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
(6) ไม่เคยเป็นผู้สำเร็จการศึกษารับปริญญาตรีสาขาใดมาก่อน
(7) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(8) ไม่เคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุก โดยพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำ
โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
การให้บริการด้านสุขภาพ
มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดบริการและสวัสดิการในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นทั้งในและนอกเวลาราชการ ดังนี้
เวลา08.30-16.30 น. ณ ห้องพยาบาล งานพัฒนานักศึกษา อาคารกิจกรรมและนันทนาการ
เวลา 18.00-22.00 น. ณ ห้องพยาบาล สำนักงานหอพัก
ขั้นตอนการทำประกันสุขภาพ (บัตรทอง)
มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยประกันสุขภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมะขามเตี้ย มาจัดทำบัตรประกันสุขภาพให้กับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัด นักศึกษายื่นเอกสารการขอย้ายสถานพยาบาลได้ในวันเปิดภาคการศึกษาโดยเตรียมเอกสารดังนี้
1.สำเนาบัตรประชาชน จำนวน 1 ชุด
2.สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
3.พร้อมกรอกแบบคำร้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า/ขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ
1. สิทธิบัตรประกันสุขภาพ(บัตรทอง) กรณีเจ็บป่วยนักศึกษาสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีและสถานีอนามัยมะขามเตี้ย กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถใช้สิทธิ์บริการแบบข้ามเขตได้ปีละ 4 ครั้ง (ซึ่งต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์) สำหรับนักศึกษาที่ไม่ประสงค์ย้ายบัตรประกันสุขภาพหากเจ็บป่วยจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นเอง
2.ประกันอุบัติเหตุนักศึกษา
มหาวิทยาลัยได้จัดทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (กลุ่ม)ให้กับนักศึกษาทุกคนที่ลงทะเบียนเรียน ซึ่งนักศึกษาชำระเงินค่าบำรุงสุขภาพคนละ 300 บาท/ปีการศึกษากับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) วงเงินค่ารักษาพยาบาล 20,000 บาท/ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลทั่วโลก โดยให้ความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ถึง 26 กรกฎาคม 2563 เวลา 16.30 น. กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทน จำนวน 160,000 บาท/ราย และกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยช่วยเหลือค่าปลงศพ จำนวน 40,000 บาท
วิธีการใช้สิทธิ์ประกันอุบัติเหตุผู้ป่วยใน
1. กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในเครือประกัน (โรงพยาบาลทักษิณ)
-
ยื่นบัตรประจำตัวนักศึกษา และแจ้งต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่ามีประกันภัยอุบัติเหตุกับบริษัทเมืองไทย ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
-
นักศึกษาไม่ต้องชำระค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลจะเรียกเก็บจากบริษัทประกันภัย
-
แจ้งงานพัฒนานักศึกษาเพื่อจะได้ดำเนินการตรวจเยี่ยมและติดต่อประสานงานเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลกับบริษัทประกันภัยต่อไป
ผู้ป่วยนอก
2. กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลอื่นๆ
-
ขอใบรับรองแพทย์ว่าได้ทำการรักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุ
-
นักศึกษาไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลสามารถเบิกจ่ายตรงกับบริษัทประกันภัย
-
กรณีสำรองจ่ายนำใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลฉบับจริงและนำใบรับรองแพทย์มาติดต่อเจ้าหน้าที่พัฒนา
นักศึกษา ( คุณสุพรรณพร ) พร้อมกรอกใบเคลมเพื่อขอรับเงินคืน
**เวลา/สถานที่เปิดให้บริการ ณ อาคารบริการวิชาการกลาง ชั้น1 ห้องพัฒนานักศึกษา ในวัน เวลา ราชการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
3. การจัดบริการรถรับ-ส่งนักศึกษา
มหาวิทยาลัยจัดสวัสดิการรถรับ-ส่งนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยตลอดปีการศึกษา ไว้บริการจำนวน 3 คัน นักศึกษาสามารถใช้บริการได้ทุกวันทำการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.30-18.00 น.และนอกเวลาราชการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 07.00 น.
4.บริการด้านอื่น ๆ
-
โรงอาหาร : เปิดบริการเวลา 07.00 น. -13.00 น.
-
โรงอาหารบริเวณหอพักนักศึกษา : เปิดบริการเวลา 06.00 น. -22.00 น.
การสมัครเรียนนักศึกษาวิชาทหาร และการขอผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
1. การสมัครเรียนนักศึกษาวิชาทหาร (รด.)
นักศึกษาที่ต้องการศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ให้รับใบสมัครและติดต่อสมัครเรียน ภายในเดือนพฤษภาคม และผู้ที่สมัคเรียนนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 และ ชั้นปีที่ 5 สมัครและรายงานตัวช่วงเดือนกรกฏาคม โดยนำเอกสารที่สำเร็จการศึกษาวิชาทหารจากต้นสังกัดเดิมพร้อมรูปถ่ายจำนวน 2 รูป (ชุดนศท.) หากมีข้อสงสัยติดต่องานพัฒนานักศึกษา
เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้
1. ใบรายงานตัว (รับได้ที่ผู้กำกับ นศท.มอ.)
2. รูปถ่ายสี พื้นหลังสีฟ้า ขนาด 1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป
3. สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชน จำนวนอย่างละ 1 ฉบับ
4. สำเนา สด.9 (ปี 3 ชาย) จำนวน 1 ฉบับ
5. หนังสือรับรองการจบ นศท.ชั้นปีที่ 2 (กรณีต่อปี 3) หรือ ชั้นปีที่ 3 (กรณีต่อปี 4) จากหน่วยฝึกเดิม (กรณีย้ายมาจากต่างจังหวัด)
2. การขอผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ สำหรับผู้ที่ได้ศึกษา นศท. แต่ไม่สำเร็จชั้นปีที่ 3 และผู้ที่ไม่ได้เรียน นศท.จะต้องดำเนินการขอผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารบราชการทหารกับทางมหาวิทยาลัยดังนี้
วิธีปฏิบัติ
การขอผ่อนผันการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการ แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ
ตัวอย่างเช่น
1. นักศึกษาที่มีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ (ปีที่อายุย่างเข้า 21 ปี ) ในปีการศึกษา 2560 นักศึกษาที่เกิด พ.ศ. 2539 จะต้องเขียนคำร้องพร้อมแนบสำเนาเอกสารจำนวน 2 ชุดดังนี้
- สำเนาใบสำคัญทหารกองเกิน ( สด.9 )
- สำเนาหมายเรียก ( สด. 43 ) ( รับได้ที่อำเภอตามภูมิลำเนาทหารที่นักศึกษาขึ้นทะเบียนฯ)
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาบัตรนักศึกษา
ยื่นเอกสารทั้งหมดได้ที่งานพัฒนานักศึกษาในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม ของทุกปี
2. หลังจากได้ดำเนินการผ่อนผันการตรวจเลือกกับทางมหาวิทยาลัยแล้ว จะต้องไปแสดงตัวต่อคณะกรรมการตรวจเลือกทหาร/
ทุกปี ใน วัน เวลา และสถานที่ ที่ระบุไว้ในหมายเรียกสด 43 แล้วแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกว่าตนขอผ่อนผันฯ ไว้ ในฐานะ
นักศึกษา พร้อมทั้งนำเอกสารต่อไปนี้แสดงต่อคณะกรรมการตรวจเลือก
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- บัตรประจำนักศึกษา
- ใบสำคัญทหารกองเกิน ( สด. 9 )
- หมายเรียก (สด.43)
นักศึกษาที่จะต้องเดินทางไปยังหน่วยคัดเลือกในวัน และเวลาปกติ สามารถขอเอกสารการลาเรียนเพื่อเข้ารับการรายงานตัวยัง
หน่วยตรวจเลือกได้ที่งานพัฒนานักศึกษา
แนะแนวการศึกษาและอาชีพ
มหาวิทยาลัยจัดให้บริการ รวมทั้งข้อมูลเตรียมความพร้อมเพื่อการศึกษาต่อและเพื่ออาชีพดังนี้
1. บริการข้อมูลข่าวสารการศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
2. บริการข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรับสมัครงาน
3. บริการจัดหางาน สำหรับนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา มหาวิทยาลัยจะประสานการรับสมัครงานจากตำแหน่งต่าง ๆ ให้มาแนะนำองค์กร ทั้งจัดให้มีการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน รวมถึงการจัดงานวันนัดพบแรงงาน
4. บริการจัดหางานพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยได้ติดต่อกับแหล่งงาน หรือบุคคลที่ต้องการรับนักศึกษาทำงานเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนและเพื่อหาประสบการณ์ช่วงที่ว่างจาการเรียน เช่น งานสอนพิเศษ งานสำรวจเก็บข้อมูลในการวิจัย ฯลฯ
5. จัดอบรมสัมมนาเกี่ยวกับการวางแผนชีวิตหลังสำเร็จการศึกษา เทคนิคการหางานทำ การทำงานเป็นทีม
6. บริการจัดหางานผ่าน Website PSU Job Search ที่ www.stu.psu.ac.th
บริการให้คำปรึกษา
มหาวิทยาลัยตระหนักในปัญหาของนักศึกษาที่มาจากความแตกต่างของวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันจำนวนมากความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ทั้งความแปลกใหม่ของระบบการเรียนและการปรับตัวของการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย นักศึกษาอาจประสบปัญหาต่าง ๆ และรู้สึกว่าการช่วยเหลือตนเองหรือการแก้ปัญหาเพียงลำพังเป็นไปได้ยากและต้องการปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา จึงจัดบริการการปรึกษาเป็นรายบุคคลและให้บริการต่าง ๆ สำหรับวัยใส ๆ ที่อาจมีเรื่องวุ่นๆกับตัวเองกับเพื่อน ครอบครัวทั้งในเรื่องของความรัก สังคม สุขภาพ ฯลฯ
บริการด้านการกีฬาและส่งเสริมสุขภาพ
การจัดให้บริการด้านการกีฬาและส่งเสริมสุขภาพ มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมกีฬา การออกกำลังกายและส่งเสริมสุขภาพ โดยให้บริการด้านสถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา วัสดุอุปกรณ์กีฬาชนิดต่างๆ บริการให้คำปรึกษาด้านการออกกำลังกาย กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และการเล่นกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ รวมทั้งสนับสนุนนักศึกษาที่มีความสามารถพิเศษทางด้านกีฬาได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันกีฬาของนักศึกษาทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยโดยอยู่ในความดูแลของงานพัฒนานักศึกษาและศูนย์กีฬานักศึกษาสามารถขอใช้ เช่น สนามและวัสดุอุปกรณ์กีฬาฟุตบอล กีฬาเทนนิส ฟุตซอล เซปัคตะกร้อ แบดมินตัน เปตอง บาสเกตบอล วอลเลย์บอล แชร์บอล เทเบิลเทนนิส และบริการศูนย์บริหารร่างกายและสุขภาพ เป็นต้น โดยการขอใช้บริการด้านคำปรึกษาและบริการด้านสนามกีฬา วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าว นักศึกษาสามารถติดต่อประสานงานได้ที่ ฝ่ายกิจกรรมกีฬา งานพัฒนานักศึกษา และเจ้าหน้าที่ศูนย์กีฬา
กิจกรรมนักศึกษาและเงินบำรุงกิจกรรม
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความสำคัญกับกิจกรรมนักศึกษาเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้กับบัณฑิต ไม่ว่าในด้านของการมีจิตสำนึกสาธารณะ คุณธรรม จริยธรรม กิจกรรมด้านวิชาการ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ เพื่อสร้างบัณฑิตที่ที่มีคุณภาพให้กับประเทศชาติ โดยมหาวิทยาลัยกำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาจำนวนชั่วโมงรวมไม่น้อยกว่า 100 ชม. ตลอดการศึกษา โดยมีเจ้าหน้าที่งานกิจกรรมนักศึกษาและเงินบำรุงกิจกรรมจะทำหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาในการจัดกิจกรรมของนักศึกษาทุกองค์กร รวมทั้งการดูแลอำนวยความสะดวกและควบคุมการใช้จ่ายเงินบำรุงกิจกรรมนักศึกษา ร่วมทั้งการบันทึกและตรวจสอบชั่วโมงกิจกรรมนักศึกษาให้แก่นักศึกษา
วินัยนักศึกษา
"มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวัตถุประสงค์ที่จะเชิดชูเกียรติและศักดิ์ศรีของนักศึกษาส่งเสริมจริยธรรม วัฒนธรรม และคุณธรรมของนักศึกษา และธำรงไว้ซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อย อันเป็นทางนำมาซึ่งชื่อเสียงและเกียรติคุณของมหาวิทยาลัย จึงได้ตราข้อบังคับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่าด้วยวินัยนักศึกษาขึ้น พ.ศ.2560"
วินัยนักศึกษา เป็นเรื่องราวการจัดระเบียบเพื่อการอยู่ร่วมในสังคม เป็นกรอบกติกาที่มหาวิทยาลัยจัดวางไว้เพื่อมุ่งพัฒนาความคิด และความประพฤติที่เกี่ยวกับศีลธรรม จรรยา การที่นักศึกษาเป็นจำนวนมากมาอยู่ร่วมกันย่อมมีปัญหาหลายประการเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีระเบียบเพื่อให้บุคคลได้ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปกติสุข และความปลอดภัยของสังคมส่วนรวม สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน หรือละเมิดระเบียบย่อมจะต้องได้รับการลงโทษตามที่ได้กำหนด
ข้อบัญญัติที่นักศึกษา “ต้องปฏิบัติ”
นักศึกษาต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องรับโทษตามข้อบังคับ
1.นักศึกษาต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งประกาศ หรือ ข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย
2.นักศึกษาต้องมีศีลธรรมและจรรยามรรยาทอันดีงาม
3.นักศึกษาพึงประพฤติตนเป็นพลเมืองดี สังวรในสิทธิ หน้าที่และความ รับผิดชอบทั้งของตนเองและผู้อื่น
4.นักศึกษาต้องรักษาชื่อเสียงและเกียรติคุณของมหาวิทยาลัย
5.นักศึกษาต้องรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี หรือทำร้ายร่างกาย หรือก่อการทะเลาะวิวาทระหว่างนักศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือนักศึกษาต่างสถาบันหรือบุคคลอื่น
6.นักศึกษาต้องแสดงความสุภาพ ไม่แสดงความก้าวร้าวหรือลบหลู่ดูหมิ่นอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยผู้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ ทั้งอยู่ต่อหน้าและลับหลัง
ข้อบัญญัติที่นักศึกษา “ห้ามปฏิบัติ”
นักศึกษาต้องไม่ประพฤติตนในทางที่ไม่สมควรแก่การเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย คือ
1.ให้ข้อมูลหรือรายงานเท็จต่อมหาวิทยาลัย
2.ปลอมเอกสาร
3.พูดจาหรือแสดงกิริยาในลักษณะหยาบคาย ข่มขู่ หรือก้าวร้าว
4.เล่นการพนัน หรือกระทำการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการพนัน
5.เสพสุรา ของมึนเมา อันอาจจะเป็นเหตุให้เสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ตนเองและส่วนรวม
6.เสพหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสุรา ของมึนเมา ภายในมหาวิทยาลัย
7.เสพหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษ
8.ประพฤติตน หรือกระทำการใดๆ ให้เป็นที่เสื่อมเสียในทางชู้สาว
9.ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง หรือทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือมหาวิทยาลัย
10.มีวัตถุหรือสิ่งของอันไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ในครอบครอง
11.กระทำผิดอาญาในลักษณะเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณของมหาวิทยาลัย
12.กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอื่นใด ซึ่งอาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย
13.การทุจริตทางวิชาการด้วยการลอกผลงานทางวิชาการหรือการสร้างข้อมูลเท่็จ
14.การกระทำอื่นใดที่มหาวิทยาลัยประกาศกำหนดว่าเป็นการกระทำผิดวินัย
นักศึกษาที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องได้รับโทษประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการ ดังนี้
1.ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
2.ภาคทัณฑ์ตลอดสภาพการเป็นนักศึกษาและมหาวิทยาลัยอาจสั่งให้เข้าโครงการพัฒนาตนเอง หรือบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะไม่เกิน 100 ชั่วโมงต่อปี นับถัดจากวันที่มหาวิทยาลัยมีคำสั่ง
3.พักการเรียน 1 ภาคการศึกษา ในภาคการศึกษาที่ถัดจากภาคการศึกษาที่กระทำความผิด ไม่รวมการศึกษาภาคฤดูร้อน ฯ
ข้อบัญญัติที่กำหนดว่า “เป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรง”
การกระทำผิดวินัยดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยร้ายแรง
1.เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนให้เกิดเหตุวุ่นวายร้ายแรงขึ้นในมหาวิทยาลัยหรือก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีในระหว่างนักศึกษาเป็นส่วนรวม หรือก่อการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
2.มีไว้เพื่อขาย หรือจำหน่าย รวมทั้งเป็นตัวแทนขาย หรือจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ
3.ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ตนเอง ผู้อื่น หรือมหาวิทยาลัย
4.กระทำผิดอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
5.ทุจริตในการวัดผล
6.ทุจริตทางวิชาการ ซึ่งบทความทางวิชาการ วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ หรือผลงานทางวิชาการอื่นๆ เพื่อการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ ด้วยการคัดลอกผลงาน หรือการสร้างข้อมูลเท็จ หรือเป็นผู้ว่าจ้างหรือรับจ้างทำผลงานดังกล่าว
7.ได้รับการลงโทษในระดับพักการเรียนมาแล้ว และกระทำความผิดซ้ำอีก
8.การกระทำอื่นใดที่มหาวิทยาลัยประกาศกำหนดว่าเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง
นักศึกษาที่กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ต้องได้รับโทษประการใดประการหนึ่ง ดังนี้
-
ภาคทัณฑ์ตลอดสภาพการเป็นนักศึกษาและพักการเรียนตั้งแต่ 1 ภาคการศึกษาถึง 2 ภาคการศึกษา ในภาคการศึกษาที่ถัดจากภาคการศึกษาที่กระทำความผิด ไม่รวมการศึกษาภาคฤดูร้อน ฯ
-
ให้พ้นจากสภาพการเป็นนักศึกษา
สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ต้องให้ความสำคัญและขอความร่วมมือจากผู้ปกครองทุกท่านในเบื้องต้น ได้แก่
-
นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนต้องพักอาศัยภายในหอพักมหาวิทยาลัย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปลอดภัยจากการเดินทาง สะดวกในการเรียนและเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งมหาวิทยาลัยจะได้ดูแลนักศึกษาใหม่ได้อย่างใกล้ชิด
-
ห้ามนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีหรือใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ทุกชนิด เพื่อเป็นการป้องกันและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุการใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ของนักศึกษาใหม่ โดยมหาวิทยาลัยจัดให้มีรถสวัสดิการบริการรับส่ง
ข้อมูลเพื่อการติดต่อมหาวิทยาลัย : งานพัฒนานักศึกษา โทร 077- 278860-61
facebook ชื่อกลุ่ม “งานพัฒนานักศึกษา มอ. สุราษฎร์ธานี”
-
ดูแลด้านทุนการศึกษา ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ทุนทำงานแลกเปลี่ยน /กยศ.
-
ดูแลเรื่องสวัสดิการการรักษาพยาบาล
-
ดูแลด้านวินัยนักศึกษา การป้องกันการทำผิดวินัย และสอบสวนพิจารณาโทษวินัยนักศึกษา สวัสดิการด้านกีฬา
-
ดูแลนักศึกษาผู้มีความสามารถพิเศษ /ให้คำปรึกษา
-
ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งทางกายและจิตใจของนักศึกษา
-
การกำกับดูแล บริการด้านนักศึกษาวิชาทหารและ การผ่อนผันทหาร